ปวดเข่า เข่าลั่น สัญญาณเตือนเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม

พญาไท 2

1 นาที

ศ. 06/05/2022

แชร์


Loading...
ปวดเข่า เข่าลั่น สัญญาณเตือนเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แตกต่างกันตรงที่การเสื่อมนั้นจะมากหรือน้อย หากเพิ่งเริ่มต้นกระบวนการเสื่อมเพียงเล็กน้อยมักจะไม่มีอาการแสดง แต่หากมีการพัฒนาไปจนถึงขั้นเสื่อมมาก…หรือผิวกระดูกมีการเปลี่ยนแปลง คือ ผิวกระดูกอ่อนเกิดการสึกไปเรียบร้อยแล้ว จะทำให้กระดูกที่อยู่ใต้ผิวกระดูกอ่อนเกิดการถูกันเสียดสีกัน ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดเข่า ซึ่งโดยปกติแล้วภาวะข้อเข่าเสื่อมจะเป็นไปตามกาลเวลา เพราะเกิดจากการใช้งานมาในระดับนึง จากนั้นจะค่อยๆ พัฒนาไปถึงขั้นเสื่อมมากจนต้องผ่าตัดข้อเข่า ดังนั้นเมื่อพูดถึงภาวะข้อเข่าเสื่อม เราจึงมักนึกถึงผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป

ปวดเข่า เข่าลั่น สัญญาณเตือนเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม…

การที่เราจะรู้ว่าข้อเข่าเสื่อมแล้วนั้น ก็คือ การมีเสียงดังก๊อบแกร๊บข้างในข้อเวลาขยับ เวลางอเหยียด และเริ่มมีอาการปวดตามลักษณะการใช้งาน แต่อาการปวดนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากภาวะข้อเสื่อมเพียงอย่างเดียว อาจมีสาเหตุมาจากเส้นเอ็นก็ได้เช่นกัน ดังนั้นอาการปวด การมีเสียงดังในข้อ เป็นเพียงอาการเตือนคร่าวๆ ว่าเราอาจมีภาวะข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้น

การตรวจหาภาวะข้อเข่าเสื่อมด้วยการเอ็กซเรย์

การตรวจภาวะข้อเข่าเสื่อมด้วยการเอ็กซเรย์นั้น เราจะตรวจพบภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะที่ไม่สามารถหยุดยั้งอะไรได้แล้ว อาจทำได้เพียงแค่ชะลอเวลา…จนกว่าจะไปถึงจุดที่เหมาะสมกับการผ่าตัด เนื่องจากข้อเข่าเทียมนั้นจะมีระยะเวลาการใช้งานอยู่ ไม่สามารถใช้งานไปได้ตลอดชีวิต หรือประมาณ 15-20 ปี เพราะฉะนั้นหากเราผ่าตัดข้อเข่าเร็วเกินไป เช่น ผ่าในคนไข้อายุ 50 ปี ก็เท่ากับว่าเมื่อคนไข้อายุ 70 ปี คนไข้ก็อาจจะต้องผ่าตัดซ้ำ เราจึงต้องทำการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ จนเมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น การรักษาวิธีอื่นไม่สามารถทำได้แล้ว จึงเปลี่ยนวิธีการรักษามาเป็นการผ่าตัดข้อเข่า

ตรวจค่า Urine CTX-II ทางเลือกใหม่ในการตรวจความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม

วิธีการตรวจอีกวิธีหนึ่ง เราเรียกว่า Biomarker เป็นการตรวจด้วยการเจาะเลือดหรือตรวจปัสสาวะ ซึ่งในการตรวจ Biomarker จะมีส่วนประกอบตัวหนึ่งที่บอกถึงการอักเสบของผิวข้อ เรียกว่า Urine CTX-II โดยมีงานวิจัยพบว่าสารประกอบนี้มีความสัมพันธ์กันกับโรคข้อเสื่อม เนื่องจากเมื่อผิวข้อเริ่มมีอาการเสื่อมสภาพหรือมีการบาดเจ็บ ก็เท่ากับว่ามีการเสื่อมสลายของคอลลาเจน type 2 ซึ่งการเสื่อมสลายของคอลลาเจน type 2 จะสัมพันธ์กันกับ  Urine CTX-II ที่สูงขึ้นนั่นเอง โดยในการตรวจค่า Urine CTX-II นี้ จะช่วยให้แพทย์พบการบาดเจ็บของผิวข้อจากค่า Urine CTX-II ที่สูงขึ้น แม้ว่าในการตรวจเอ็กซเรย์จะยังไม่พบความผิดปกติใดๆ ก็ตาม

เริ่มต้นชะลอข้อเข่าเสื่อม…ด้วยการปรับพฤติกรรม

ประโยชน์ของการตรวจ Urine CTX-II ก็คือ เพื่อให้เราทราบได้ว่าผิวข้อเริ่มมีการเสื่อมสภาพ หรือเริ่มมีกระบวนการบาดเจ็บแล้วหรือยัง ซึ่งหากผลการตรวจพบว่ามีกระบวนการบาดเจ็บแล้ว…ก็อาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเช็กประวัติว่าคนไข้มีการใช้งานแบบไหนบ้าง คนไข้ประกอบอาชีพอะไร หรือมีปัจจัยอะไรที่กระตุ้นความเสื่อมได้บ้าง เช่น การนั่งงอเข่า การเดินขึ้นลงบันได เพื่อเริ่มต้นปรับพฤติกรรมการใช้งาน ลดสาเหตุที่ทำให้ผิวข้อเกิดภาวะเสื่อม

โดยหลังจากปรับพฤติกรรมแล้ว หากพบว่าค่า Urine CTX-II ยังสูงอยู่ เราจะมีการใช้ยาในกลุ่มที่ช่วยชะลอกระบวนการเสื่อมของผิวข้อ หรือใช้ยาบำรุงที่ช่วยในการซ่อมแซมการบาดเจ็บของผิวข้อ หรือการฉีดยาเพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวข้อใหม่ หรือกระตุ้นการสร้างน้ำเลี้ยงผิวข้อที่ช่วยลดการบาดเจ็บของผิวข้อได้

หากเรารู้ได้ก่อนว่าผิวข้อเกิดกระบวนการเสื่อมแล้วหรือยัง? การปรับพฤติกรรมและรักษาด้วยยา…ก็จะช่วยชะลอการเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ ให้คุณสนุกไปกับทุกทริปเที่ยวป่า ขึ้นภูเขา หรือเต็มที่กับการเล่นกีฬาสุดโปรดได้แบบไร้กังวล


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...