ดูแลตนเองอย่างไร เมื่อต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม

พญาไท 3

1 นาที

พ. 14/04/2021

แชร์


Loading...
ดูแลตนเองอย่างไร เมื่อต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม นอกจากการฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัดแล้ว แพทย์จะอธิบายถึงความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการผ่าตัดให้กับคนไข้ได้ทราบ เพื่อการระมัดระวัง การดูแลตนเอง คนไข้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวไหล่ดีขึ้นตามเป้าหมาย และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

ภาวะแทรกซ้อน (Complications) หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม ที่อาจเกิดขึ้นได้

  • การติดเชื้อ (Infection)

การติดเชื้อเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดได้กับการผ่าตัดทุกชนิด ในส่วนของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียมอาจมีการติดเชื้อที่ตื้นบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ และการติดเชื้อชั้นลึกบริเวณข้อเทียมซึ่งต้องทำการผ่าตัดเข้าไปล้างและต้องถอดข้อเทียมออก รวมถึงให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลานาน

การติดเชื้ออาจเกิดในระยะแรกหลังการผ่าตัด หรือเกิดในภายหลังเป็นเวลานานก็ได้ ดังนั้นแพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อในภายหลัง สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อเทียมหรือวัสดุทางการแพทย์ต่างๆ ในร่างกาย

  • ปัญหาที่เกิดกับข้อเทียม (Prosthesis Problems)

ถึงแม้ข้อเทียมจะมีรูปแบบและวัสดุที่พัฒนาไปมาก รวมถึงเทคนิคการผ่าตัดที่ดีขึ้น แต่ข้อเทียมสามารถเกิดการสึก เสื่อม และหลวมได้ หรือเกิดการเคลื่อนหลุดของข้อได้ ดังนั้นถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ในภายหลังก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข (Revision Surgery)

  • การบาดเจ็บต่อเส้นประสาท (Nerve Injury)

เส้นประสาทที่อยู่โดยรอบหัวไหล่อาจได้รับบาดเจ็บจากการผ่าตัดได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการบาดเจ็บในลักษณะเส้นประสาทช้ำ อักเสบ ไม่ถึงกับขาด ซึ่งมักจะฟื้นตัวได้เองจนกลับมาเป็นปกติได้

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด (Preparing for Surgery)

  • การตรวจโรคทางอายุรกรรม เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ถ้าพบว่ามีความผิดปกติ หรือยังควบคุมได้ไม่ดี แพทย์จะส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
  • ยาที่ผู้ป่วยกินเป็นประจำจะต้องเตรียมมาให้แพทย์ดู เนื่องจากยาบางประเภทมีผลต่อการผ่าตัด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาแอสไพริน จำเป็นต้องหยุดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด รวมถึง ยาสเตียรอยด์ หรือถ้าผู้ป่วยที่เคยกินยาลูกกลอน ยาชุด ที่สงสัยจะมีสารสเตียรอยด์ ก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • การเตรียมสภาพแวดล้อมที่บ้าน เนื่องจากหลังผ่าตัดข้อไหล่เทียมคนไข้จะยกและเอื้อมแขนได้ลำบาก จึงควรจะวางของที่จำเป็นอยู่ในระดับต่ำเพื่อสะดวกต่อการใช้และหลังการผ่าตัดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยจะต้องมีคนช่วยในการแต่งตัว อาบน้ำ ทำอาหาร ซักรีด เป็นต้น จึงควรเตรียมบุคคลที่จะช่วยดูแลในระยะแรกไว้

การผ่าตัด (Your Surgery)

  • การระงับปวดจะใช้ได้ทั้งการวางยาสลบ (General Anesthesia) การฉีดยาระงับปวดเฉพาะที่ (Regional Anesthesia) หรือใช้รวมกันทั้ง 2 วิธี
  • การผ่าตัดจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2 ชม. หลังผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยจะอยู่ในห้องสังเกตอาการ ก่อนที่จะส่งกลับยังห้องพักผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะนอนโรงพยาบาลประมาณ 3 วัน

การฟื้นฟู (Recovery)

  • การควบคุมอาการปวด (Pain Management) การใช้ยาแก้ปวดและการประคบความเย็นจะช่วยลดอาการปวด เมื่ออาการปวดลดลง ผู้ป่วยก็จะสามารถทำกายภาพบำบัดได้ดี แต่โดยปกติผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดไหล่บ้างเวลาเคลื่อนไหว หรือเวลานอนในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
  • การทำกายภาพบำบัด (Rehabilitation) แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะสอนให้ผู้ป่วยทำกายภาพเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นของข้อไหล่ แต่ความเข้มข้นของการทำกายภาพสำหรับคนไข้แต่ละคนจะไม่เท่ากัน ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ
  • การใส่เครื่องช่วยพยุง (Arm Sling) จำเป็นต้องใส่ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยพยุงและป้องกันข้อไหล่
  • การดูแลแผลผ่าตัด (Wound Care) ไม่ควรให้แผลผ่าตัดเปียกน้ำ จนกว่าแผลจะปิดและแห้งสนิท โดยปกติจะตัดไหม 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด แต่ถ้าเย็บด้วยไหมละลายก็ไม่ต้องตัดไหม

กิจวัตรประจำวัน (Daily Activity)

  • ผู้ป่วยควรบริหารข้อไหล่เองที่บ้านตามที่แพทย์กำหนด โดยต้องมีความมุ่งมั่นในการทำกายภาพ ซึ่งมักต้องบริหารอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน แต่ก็ไม่ควรทำมากเกินไปหรือเกินกว่าที่แพทย์กำหนดเพราะอาจเกิดการบาดเจ็บต่อเอ็นและเนื้อเยื่อโดยรอบได้
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักเกินครึ่งกิโลกรัมในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก
  • หลีกเลี่ยงการเหยียดหรือหมุนแขนไปจนสุด เช่น การยืดแขนไปหลังลำตัว, การกางหรือหมุนแขนออกด้านนอก โดยเฉพาะในช่วง 6 สัปดาห์แรก
  • หลีกเลี่ยงการใช้แขนยันตัวขึ้นจากเตียงหรือเก้าอี้ในช่วง 6 สัปดาห์แรก
  • ห้ามขับรถในช่วง 4 สัปดาห์แรก
  • ห้ามเล่นกีฬาที่มีการกระแทก และห้ามยกของหนักเป็นประจำ

 

การดูแลและการทำกายภาพบำบัดที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียมประสบความสำเร็จ ทั้งยังช่วยลดอาการปวดของคนไข้ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้อไหล่ได้ ทำให้คนไข้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงข้อไหลเทียมก็จะสามารถอยู่กับคนไข้และใช้ได้เป็นเวลานาน

 

 

น.อ.น.พ. ประชัน บัญชาศึก
ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลพญาไท 3

นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...