ส่วนใหญ่… เด็กมักเป็นไข้หวัด ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉลี่ยแล้วเด็กปกติมีโอกาสเป็นไข้หวัดได้ 6-8 ครั้ง/ปี และจะเป็นไข้หวัดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนเชื้อที่พบบ่อยในการทำให้เกิดไข้หวัดได้แก่ Rhinovirus, Coronavirus, Parainfluenza virus, RSV และเชื้อไข้หวัดใหญ่
อาการไข้หวัดในเด็ก
เด็กๆ จะมีอาการได้ตั้งแต่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว อาเจียน ท้องเสีย
***ส่วนอาการที่มักเข้าใจผิดกันบ่อย คือ การมีน้ำมูกเขียว ซึ่งโดยทั่วไปเด็กจะมีน้ำมูกใสในวันแรก ต่อมาน้ำมูกอาจจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวได้ จากการที่เม็ดเลือดขาวในร่างกายหลั่งสารออกมากำจัดเชื้อโรค ดังนั้นการที่มีน้ำมูกเหลืองหรือเขียว ไม่ได้แปลว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเสมอไป
การดูแลรักษาไข้หวัดในเด็ก
รักษาตามอาการ ทานยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไข้หวัดจะหายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะ
เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ ?
- เด็กที่มีภาวะขาดน้ำ สังเกตได้จากอาการปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ทานไม่ได้ ซึมลง ไข้สูงมาก โดยเฉพาะเด็กที่เคยมีภาวะไข้ชัก
- เป็นหวัดนาน 7-14 วัน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพื่อแยกโรคให้แน่ชัด และให้การรักษาที่เหมาะสม เช่น
- ไซนัสอักเสบ มีอาการเป็นหวัดเรื้อรังร่วมกับมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา
- โรคภูมิแพ้จมูก จะมีอาการคันจมูก คันตา น้ำมูกไหลเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการมากขึ้นช่วงที่สัมผัสสิ่งกระตุ้น
- หูชั้นกลางอักเสบ เด็กจะมีอาการปวดหูร่วมด้วย ตรวจเยื่อบุแก้วหูพบความผิดปกติ
- เด็กมีภาวะหายใจลำบาก หายใจมีเสียงดัง หายใจอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน เขียว
- เด็กที่มีอัตราการหายใจเร็วกว่าเกณฑ์ปกติตามอายุ ดังนี้
- อายุ < 2 เดือน หายใจเร็ว > 60 ครั้ง/นาที
- อายุ 2 เดือน-1 ปี หายใจเร็ว > 50 ครั้ง/นาที
- อายุ 1-5 ปี หายใจเร็ว > 40 ครั้ง/นาที
- อายุ > 5 ปี หายใจเร็ว > 30 ครั้ง/นาที
หากพบอาการผิดปกติ ตั้งแต่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว อาเจียน ท้องเสีย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป