“งูสวัด” ถือเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่คุ้นหู แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ว่า โรคนี้มีความอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ เพราะในรายที่มีอาการรุนแรงนั้น อาจทำให้เกิดอาการปอดบวม ปอดติดเชื้อ มีปัญหาในการได้ยิน ตาบอด หรือสมองติดเชื้อก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและการลุกลามของเชื้อ เพราะเหตุนี้จึงทำให้เราไม่ควรรู้จักโรคงูสวัดเพียงแค่ชื่อเท่านั้น แต่ควรทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันตัวเราเองและคนที่รักให้ปลอดภัย
งูสวัดคืออะไร ใครเสี่ยงเป็นมากที่สุด?
“โรคงูสวัด” เป็นโรคผิวหนังประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากติดเชื้อไวรัส “วาริเซลลาซอสเตอร์” ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส โดยใครก็ตามที่เป็นโรคอีสุกอีใส ก็มีโอกาสเป็นโรคงูสวัดในอนาคตได้ เนื่องจากยังมีไวรัสหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ทั้งนี้ โรงงูสวัดถือว่าเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในผู้สูงอายุมากที่สุด เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้สูงอายุนั้นลดลง โดยช่วงอายุที่พบว่าเป็นได้บ่อยคือ ตั้งแต่ 50 ปี ไปจนถึง 85 ปี
สังเกตอาการอย่างไร จึงรู้ว่าใช่งูสวัด?
งูสวัด ถือว่าเป็นโรคที่สามารถสังเกตอาการได้ค่อนข้างชัดเจน โดยผู้ป่วยจะเป็นผื่นผิวหนังที่มาพร้อมกับความเจ็บ ปวดแสบปวดร้อน มักมาพร้อมกับแผลพุพอง ซึ่งผื่นงูสวัดนั้นมักจะปรากฏขึ้นที่ข้างหนึ่งข้างใดของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณเอว คอไปถึงไหล่ บริเวณดวงตา ใบหน้าส่วนบน หรือบริเวณใต้ราวนม เป็นต้น ทั้งนี้ บางรายอาจมีอาการปวดหัว หนาวสั่น ท้องไส้ปั่นป่วนร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งในรายที่รุนแรงอาจทำให้การได้ยินบกพร่อง ตาบอด ติดเชื้อในสมอง ทำให้ปอดบวม ปอดติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากพบอาการผื่นปวดแสบปวดร้อนตามร่างกายข้างใดข้างเดียว ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะมีโอกาสที่จะเป็นงูสวัดได้ค่อนข้างมาก
วัคซีนโรคงูสวัด ป้องกันให้อยู่หมัด ปลอดภัยได้มากขึ้น
แม้งูสวัดจะเป็นโรคที่มียารักษาให้หายได้ แต่แนวทางในการป้องกันนั้น นอกจากการดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงแล้ว “การฉีดวัคซีน” ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการฉีดวัคซีนงูสวัดจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ลดความเสี่ยงในการเกิดซ้ำ และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายจากโรคงูสวัดลงได้ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนงูสวัดนั้น ไม่ได้เป็นการป้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว เราก็ยังมีโอกาสเป็นได้ แต่จะมีโอกาสเป็นน้อย และหากเป็นขึ้นมาก็จะรุนแรงน้อย ลดภาวะแทรกซ้อนได้ดี ซึ่งเมื่อฉีดแล้วจะมีผลในการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเวลา 5 ปี และลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคได้มากถึง 51% ซึ่งจะดีกับผู้สูงอายุ เพราะหากมีอาการแทรกซ้อนจากโรคนี้มากเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากเท่านั้น
ผลข้างเคียงจากวัคซีนงูสวัด ทำให้มีข้อจำกัดที่ไม่ควรฉีดหรือไม่?
ผู้ที่ได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนงูสวัด คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ทั้งเคยและไม่เคยเป็นงูสวัด การรับวัคซีนงูสวัดนั้นอาจทำให้ให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ อาทิ มีอาการบวมแดงและคันในบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ เวียนหัว เป็นลม เป็นต้น ซึ่งถือว่าไม่ใช่อาการที่รุนแรงและเป็นอันตราย และเป็นอาการที่สามารถหายเองได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถรับวัคซีนงูสวัดได้ เนื่องจากวัคซีนงูสวัดเป็นวัคซีนเชื้อเป็น จึงมีข้อห้ามในผู้ที่แพ้ส่วนประกอบต่างๆ ของวัคซีน ผู้ที่ภูมิกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น
งูสวัด ถือเป็นโรคในผู้สูงวัยที่นำมาซึ่งความเจ็บปวด ทรมาน และอาการแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วก็จะเป็นซ้ำได้อีก ทั้งยังสามารถติดต่อไปยังคนใกล้ชิดในครอบครัวได้ทางการสัมผัส ดังนั้น เพื่อให้ผู้สูงอายุในบ้านของเราปลอดภัยจากโรคงูสวัด รวมถึงทำให้ทุกคนในบ้านห่างไกลจากโอกาสติดโรคนี้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดจึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ยิ่งในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคปอด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ด้วยแล้ว การรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้น เพราะหากเป็นขึ้นมาจะมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้มากขึ้นจากโรคที่เป็นอยู่นั่นเอง
พญ.สุพิชชา องกิตติกุล
อายุรศาสตร์, อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
แพทย์คลินิกอายุรกรรม โรคติดเชื้อ
โทร. 02-467-1111 ต่อ 3185-3186, 3133