โรคถุงน้ำในไต (Cystic kidney disease) เกิดจากภายในไตมีซีสต์หรือถุงน้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ไตโตขึ้น และเมื่อถุงน้ำโตขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเริ่มไปเบียดเนื้อไตที่ยังปกติ ทำให้เนื้อไตเกิดความเสียหาย นำมาซึ่งอาการไตวายได้ในที่สุด โดยสาเหตุของการเกิดโรคถุงน้ำในไตนั้นเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรมและไม่ใช่จากพันธุกรรม
โรคถุงน้ำในไตจากพันธุกรรม
โรคถุงน้ำในไตจากพันธุกรรมที่พบบ่อย ได้แก่
- Polycystic kidney disease ซึ่งมีอยู่สองประเภท คือ
-
- ถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมแบบยีนเด่น เรียกว่า ADPKD มักพบได้บ่อยกว่า และแบบ
- ถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมแบบยีนด้อย เรียกว่า ARPKD โดยมักมีตรวจพบอาการท้องโตและถุงน้ำในไตทั้งสองข้างจำนวนมาก ไตจะมีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงอาจมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไตร่วมด้วย
- Medullary cystic kidney disease มักไม่แสดงอาการ ตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพ เช่น การทำอัลตราซาวด์
โรคถุงน้ำในไตที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม
โรคถุงน้ำในไตที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมที่พบบ่อย ได้แก่
- Simple kidney cyst เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักไม่แสดงอาการ จะสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้นรวมถึงโรคประจำตัว เช่น โรคไตเรื้อรัง
- Multicystitc dysplastic kidney disease เกิดจากการพัฒนาที่ผิดปกติขณะเป็นตัวอ่อน ลักษณะเนื้อไตจะถูกแทรกด้วยถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนมาก มักพบแต่กำเนิดจากการอัลตราซาวด์ แต่พบไม่บ่อย
- Medullary sponge kidney เกิดถุงน้ำที่ท่อไตแต่กำเนิด มักไม่แสดงอาการ แต่อาจพบการติดเชื้อหรือทำให้เกิดนิ่วในไตได้
อาการแสดงและการวินิจฉัยโรคถุงน้ำในไต
ผู้ป่วยโรคถุงน้ำในไตอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพด้วยการทำอัลตราซาวด์หรือสแกนคอมพิวเตอร์ ส่วนอาการที่อาจพบได้ มีดังนี้
- ปวดหลังบริเวณบั้นเอว
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะเป็นกรวดทรายจากนิ่วในไต
- ความดันสูง
- ปัสสาวะติดเชื้อ
- ท้องโตคลำได้ก้อน
การติดตามการดำเนินโรคและการรักษาถุงน้ำในไต
เนื่องจากถุงน้ำในไตบางประเภทต้องวินิจฉัยเพื่อแยกกับเนื้องอกมะเร็งที่ไต จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตาม ซึ่งการรักษาส่วนมากไม่จำเป็นต้องผ่าตัดหากไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่มีลักษณะโตเร็ว หรือลักษณะที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง การรักษาจึงเป็นการรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ และคอยติดตามอาการ รวมถึงประเมินผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
คำแนะนำในการดูแลตนเองและการเฝ้าระวัง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- เลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มหรือมีโซเดียมสูง
- ตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด
- หากมีอาการไข้ ปวดบั้นเอวมาก ปัสสาวะเป็นเลือด ให้รีบไปโรงพยาบาล
- ระวังการกระทบกระแทกบริเวณบั้นเอวในตำแหน่งที่มีถุงน้ำที่ไต