บูรณะฟันแบบอินเลย์ และออนเลย์

บูรณะฟันแบบอินเลย์ และออนเลย์

ในกรณีที่เนื้อฟันสูญเสียเยอะ การบูรณะฟันด้วยการอุดโดยตรงอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปริมาณเนื้อฟันที่หายไปเยอะ บางครั้งอาจจะเป็นการยากที่จะทำการตกแต่งฟันให้เหมือนเป็นฟันธรรมชาติตามเดิม และยิ่งถ้าเป็นตำแหน่งที่รับแรงบดเคี้ยวเยอะอาจมีความเสี่ยงต่อการแตกหักได้สูง

 

นอกจากนั้นในกรณีที่ขอบของโพรงฟันที่อยู่ลึกใกล้ขอบเหงือก การบูรณะโดยตรงอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการครอบคลุมลงไปถึงขอบเหงือกได้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดรอยโรคฟันผุต่อ หรือในกรณีที่โพรงฟันใหญ่ หรือมีการเรียงตัวที่ไม่ดี หรือ ไม่สามารถอุดฟันด้วยวิธีทางตรงให้มีบริเวณสัมผัสที่ดีได้ จึงต้องพิจารณาทำการบูรณะทางอ้อม ซึ่งเรียกว่าการทำอินเลย์/ออนเลย์ หรือเป็นการตกแต่งฟันโดยทำครอบบางส่วน ซึ่งต่างจากการครอบฟันทั้งซี่

 

ในการเตรียมโพรงฟันสำหรับอินเลย์หรือออนเลย์ ทันตแพทย์จะทำการกรอตกแต่งฟันน้อยกว่าและครอบคลุมปริมาณเนื้อฟันที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทำครอบฟัน กล่าวคือการเตรียมโพรงฟันและการทดแทนการบูรณะจะอยู่กึ่งกลางระหว่างการอุดและการทำครอบฟัน อย่างไรก็ตามการทำครอบฟันบางส่วนอาจไม่สามารถใช้ได้ในบางกรณี ขึ้นอยู่กับลักษณะ ตำแหน่ง และปริมาณของเนื้อฟันที่เหลือ และดุลพินิจของทันตแพทย์ร่วมด้วย

 

ข้อดี

  • สามารถทำการตกแต่งฟันนอกปากเป็นรูปร่างที่ต้องการได้ก่อนทำการยึดวัสดุลงบนฟัน
  • มีคุณสมบัติที่ดีกว่าวัสดุอุดฟันแบบปกติ มีความแข็งแรงและทนต่อแรงบดเคี้ยว
  • ปกป้องเนื้อฟันที่เหลือ และป้องกันการแตกหัก
  • ขอบเขตในบางตำแหน่งไม่ครอบคลุมลงไปถึงเหงือก ทำให้ทำความสะอาดบริเวณขอบเหงือกเป็นไปได้ง่ายกว่า

 

ขั้นตอนการทำ

  1. ทันตแพทย์จะตรวจฟันโดยละเอียด และทำการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์เพื่อตรวจสภาพของโพรงประสาทฟันและปลายรากฟัน
  2. ทำการพิมพ์ปากเพื่อไปเทแบบจำลองของฟัน นำมาวางแผนการรักษาและออกแบบลักษณะของโพรงฟันที่จะทำการกรอตกแต่งฟัน รวมถึงเลือกวัสดุบูรณะให้เหมาะกับซี่ดังกล่าว
  3. กรอตกแต่งฟันร่วมกับการใส่ยาชาเพื่อป้องกันอาการเสียวฟัน
  4. ทำการพิมพ์ปากเพื่อบันทึกฟันที่ทำการกรอแต่ง และนำไปทำแบบซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระหว่างนี้ทันตแพทย์จะสร้างวัสดุชั่วคราวขึ้นมาแล้วนำมายึดในช่องปากจนกระทั่งได้ชิ้นงานจริง
  5. ผู้ป่วยจะได้รับการนัดเพื่อมาลองชิ้นงาน ตรวจด้านประชิด ความแนบของขอบวัสดุ และการกัดสบของฟันของคู่สบก่อนทำการยึดด้วยซีเมนต์ถาวร
  6. หลังจากการยึดชิ้นงานไป 1 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามผล สอบถามอาการหลังจากการใช้งานของผู้ป่วย

 

ชนิดของอินเลย์ และออนเลย์

วัสดุในการทำอินเลย์ และออนเลย์ แบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ คือ โลหะกับวัสดุที่สีเหมือนฟัน วัสดุโลหะส่วนมากจะเป็นวัสดุที่มีส่วนประกอบของทองเพื่อต้องการความแข็งแรงและทนทานในการใช้งาน ปกป้องโครงสร้างฟันที่เหลืออยู่น้อยไม่ให้มีการแตกหัก ส่วนวัสดุที่มีสีเหมือนฟัน (เรซิน คอมโพสิต หรือ พอร์สเลน) ในกรณีที่ผู้ป่วยคำนึงถึงความสวยงามอาจเลือกวัสดุสีเหมือนฟัน แต่วัสดุประเภทนี้มีข้อจำกัดในบริเวณที่มีแรงบดเคี้ยวสูงๆ เช่นฟันกรามซี่ที่ 2 เนื่องจากมีโอกาสเกิดการแตกหักได้สูง


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...