ภาวะหัวใจวาย หรือภาวะหัวใจล้มเหลว คือภาวะที่หัวใจอ่อนแอไม่สามารถบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายได้เพียงพอกับความต้องการในขณะนั้น ถึงแม้จะมีจำนวนเลือดมากพอ ส่วนใหญ่ภาวะหัวใจวายจะเกิดในระยะสุดท้ายของโรคหัวใจ ทั้งเป็นโรคแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ
ภาวะหัวใจวายหรือภาวะหัวใจล้มเหลวมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ หัวใจห้องซ้ายวาย และหัวใจห้องขวาวาย ซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถเกิดได้จากสภาวะทางโรคหัวใจ ได้แก่ จากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ โรคของกล้ามเนื้อหัวใจเอง โรคลิ้นหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง การอักเสบและการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจหรือของลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หัวใจเต้นผิดจังหวะ การได้รับสารพิษต่างๆ เช่น ยาบ้า การดื่มสุราและแอลกอฮอล์ อาการที่พบคือ เหนื่อยง่าย ไอเมื่อออกแรง ออกกำลัง ขณะพักหายใจลำบาก แน่น หายใจเหนื่อยหอบเมื่อนอนราบ อาการดีขึ้นเมื่อลุกขึ้นนั่ง ไม่มีแรง ข้อเท้าบวม แน่นในท้อง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการคั่งของน้ำโดยไม่ได้รับประทานอาหารมากขึ้น ความดันโลหิตสูง เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหนาตัวต้องทำงานมากขึ้น และเกิดล้มเหลวได้
พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว ได้แก่ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (อ้วน)
สัญญาณเตือนโรคหัวใจวาย
- แน่นหน้าอก : โรคหัวใจวายส่วนใหญ่เกี่ยวกับอาการแน่นหน้าอก มักเกิดนานกว่า 2 – 3 นาที หรือเป็นๆหายๆ อาจรู้สึกเหมือนถูกกด บีบ และแน่นๆ ทำให้รู้สึกไม่สบาย
- แสดงอาการส่วนบนของร่างกาย : รวมถึงการเจ็บบริเวณหลัง แขนข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง คอ ขากรรไกร และ ท้อง
- หายใจสั้นลง : มักเกิดตามอาการแน่นหน้าอก หรือเกิดก่อนอาการแน่นหน้าอกได้
- สัญญาณอื่นๆ : ตื่นกลัว คลื่นไส้ และปวด
อาการต่างๆ เหล่านี้ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลว และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น พบได้ในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยทารกจนถึงผู้สูงอายุ แต่สาเหตุของการเกิดจะแตกต่างกันไป โดยรวมแล้วพบในผู้ที่อายุมาก ในประเทศที่กำลังพัฒนา พบความชุกของภาวะหัวใจวายประมาณ 2 – 3% ของประชากรทั้งหมด และหากอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป จะพบความชุกของภาวะนี้ได้ 20 – 30%
สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจวาย
- โรคหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ เป็นต้น
- โรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Dilated cardiomyopathy
- โรคลิ้นหัวใจต่างๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ
- โรคความดันโลหิตสูง
- สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ค่อนข้างน้อย เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้รับยาหรือสารบางประเภทเกินขนาด เช่น โคเคน แอลกอฮอล์ ได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง โรคที่มีโปรตีนชื่อ Amyloid เข้าไปสะสมที่กล้ามเนื้อหัวใจ (Amyloidosis) เป็นต้น
อาการของโรคหัวใจวาย
ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเล็กน้อยจึงละเลยการมาพบแพทย์ และมีจำนวนไม่น้อยที่มาพบแพทย์เมื่ออาการหนัก ดังนั้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจวายควรทราบถึงอาการ พร้อมสังเกตติดตาม หากมีอาการแย่ลงต้องรีบปรึกษาแพทย์
- เหนื่อยง่าย หากโรคหัวใจเป็นไม่มากจะเหนื่อยเฉพาะเวลาทำงานหนัก (Dyspnea on Exertion) หากเป็นมากขึ้นความรุนแรงของอาการเหนื่อยจะมากขึ้น งานปกติที่เคยทำได้ก็จะเหนื่อย แม้แต่เวลาพักก็ยังรู้สึกเหนื่อย หากอาการเหนื่อยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงต้องรีบปรึกษาแพทย์
- นอนแล้วจะมีอาการเหนื่อย หลังจากนอนไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ทำให้ต้องลุกขึ้นมานั่งอาการถึงจะดีขึ้น บางรายนอนราบไม่ได้เลย Orthopnea
- อ่อนเพลียง่าย
- เท้าบวม หรือท้องมาน เนื่องจากมีการคั่งของน้ำ
- น้ำหนักเพิ่มอย่างเร็ว
- ไอเรื้อรังโดยเฉพาะหากเสมหะมีสีแดงหรือชมพูปนออกมาต้องรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการของน้ำท่วมปอด
- มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากระบบย่อยอาหารได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง
- ความจำเสื่อม มีการสับสน
- ใจสั่นหัวใจเต้นเร็ว
การรักษา
ผู้ป่วยโรคหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลายอย่างต่อเนื่องจนเกิดอาการของหัวใจวาย จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในการรักษา ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การใช้ยารักษา
- การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุเช่นการทำ Balloon ขยายหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ
- การใส่เครื่องมือเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ
หากเกิดอาการฉุกเฉินควรรวบรวมสมาธิ วางแผนการช่วยเหลือ โดยต้องให้การดูแลเบื้องต้น ดังนี้
- ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ให้นอนยกหัวสูงหรือนั่ง หากมีออกซิเจนที่บ้าน เปิดระดับ 4-6 ลิตรให้ผู้ป่วย หากเจ็บหน้าอกให้ยาอมใต้ลิ้นแก่ผู้ป่วย ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ
- ผู้ป่วยที่หมดสติหรือไม่รู้สึกตัว ให้นอนหงาย หันหน้าออกไปทางด้านข้าง หรือให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก ไม่ควรป้อนยาหอม หรืออาหาร เพราะจะเกิดการสำลัก ให้ออกซิเจน โทรปรึกษาแพทย์ หรือนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน