เป็นที่ทราบกันดีว่า “มะเร็งเต้านม” ในผู้หญิงไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และบ่อยครั้งการพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุมาจากการคลำเจอ “ก้อนเนื้อที่เต้านม” รวมถึงอาการ “เจ็บเต้านม” แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่พบอาการเจ็บที่เต้านมเลย ส่งผลให้ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะปล่อยปะละเลย เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร แต่สุดท้ายก้อนเนื้อนั้นเป็นเนื้อร้ายที่แสดงอาการเมื่อลุกลามกลายร่างเป็นมะเร็ง
คลำเจอก้อนที่เต้านม แต่ไม่เจ็บ ยิ่งน่ากลัว
สำหรับสาวๆ ที่คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านม กลิ้งไปมาได้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ อย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร เพราะในบรรดาก้อนที่เต้านมนั้น มีโรคกลุ่มหลัก ๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ
- ซีสต์เต้านม
- เนื้องอกเต้านม (ไม่ใช่เนื้อร้าย)
- มะเร็งเต้านม
สำหรับซีสต์ที่เต้านมหากสังเกตตัวเองดีๆ และคลำเต้านมอยู่เสมอ จะพบว่าซีสต์มีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน โดยจะโตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังรอบเดือนมาแล้ว ลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการ เจ็บที่ก้อน แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มเนื้องอกและมะเร็ง ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยเจ็บ ไม่มีอาการแสดงให้เห็น ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่าร้อยละ 90 ของมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน ไม่มีอาการเจ็บ ดังนั้น ผู้หญิงที่คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านม แต่ไม่รู้สึกเจ็บอย่านิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจ
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิด ก้อนเนื้อที่เต้านม และมะเร็งเต้านม
สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงขึ้นทุกปีเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป มีมลภาวะเพิ่มมากขึ้น อาหารบางประเภท สารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ความเครียดภายในจิตใจ รวมถึงพันธุกรรม ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การหมั่นดูแลเต้านมของตนเอง แนะนำสาวๆ ตั้งใจคลำเต้านมตนเองขณะอาบน้ำ อย่างน้อย1-2 ครั้งต่อเดือน หากพบความผิดปกติหรือพบก้อนเนื้อที่เต้านม ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1-2 สัปดาห์เพื่อวินิจฉัยแยกโรค และวางแผนการรักษาต่อไป
สิ่งที่ควรทราบคือ “มะเร็งเต้านม” สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองค้นหาโรคตั้งแต่ในระยะแรกๆ เมื่อพบเร็ว และดำเนินการรักษา ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ได้อย่างปกติมากยิ่งขึ้น
ตรวจและรักษา “ก้อนเนื้อที่เต้านม” ได้อย่างไร?
เมื่อเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะสอบถาม ซักประวัติ อายุ และอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ช่วงเวลาของการมีประจำเดือนพร้อมทั้งตรวจเพิ่มเติมตามดุลยพินิจย์ของแพทย์ เช่น การตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์ การตรวจภาพเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ ตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม หากพบความผิดปกติ การรักษาอาจทำการเจาะหรือดูดเซลล์จากถุงน้ำ หรือก้อนเนื้อ ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ หรือผ่าตัดทั้งก้อนเนื้อ พร้อมทั้งส่งตรวจวิเคราะห์เพื่อให้รู้ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด มีความเสี่ยงเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับอาการต่อไป