ก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลังต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อการฟื้นตัวที่ดี?

พญาไท พหลโยธิน

2 นาที

18/03/2025

แชร์


Loading...
ก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลังต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อการฟื้นตัวที่ดี?

การผ่าตัดกระดูกสันหลัง คือ การรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง เส้นประสาท หรือไขสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกหักจากอุบัติเหตุ หรือกระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีภาวะอื่นๆ ที่อาจจำเป็นต้องผ่าตัด เช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ กระดูกสันหลังเคลื่อน เนื้องอกที่กระดูกสันหลัง การติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง และภาวะกระดูกสันหลังทรุดจากโรคกระดูกพรุน

 

ก่อนผ่าตัด แพทย์จะทำการตรวจ และวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อเลือกเทคนิคที่เหมาะสม เช่น การผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery) ซึ่งช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้างจากการผ่าตัดแบบเปิด และการฟื้นตัวจะเร็วขึ้น หรือทำการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูก (Spinal Fusion) เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับโครงสร้างกระดูกสันหลัง

 

เมื่อไหร่ จึงจำเป็นต้องผ่าตัดกระดูกสันหลัง?

การผ่าตัดกระดูกสันหลัง มักเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเมื่อการรักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น การทำกายภาพบำบัด การใช้ยา หรือการฉีดยาลดการอักเสบ ไม่สามารถบรรเทาอาการได้ โดยทั่วไปแพทย์มักจะแนะนำให้ลองรักษาด้วยวิธีที่ไม่ผ่าตัดอย่างน้อย 6-12 สัปดาห์ก่อนพิจารณาผ่าตัด หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และส่งผลต่อการใช้ชีวิตโดยตรง แพทย์จะให้คำปรึกษา เพื่อเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม โดยภาวะ หรืออาการที่ต้องพิจารณาผ่าตัด มีดังนี้

  • อาการปวดเรื้อรังรุนแรง ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นๆ เช่น ปวดหลังร้าวลงขา หรือปวดคอร้าวลงแขนจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • อาการชา อ่อนแรง หรือสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า มีการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังที่รุนแรง
  • สูญเสียการควบคุมระบบขับถ่าย เช่น กลั้นปัสสาวะ หรืออุจจาระไม่ได้
  • ภาวะกระดูกสันหลังผิดรูป หรือไม่มั่นคง เช่น กระดูกสันหลังเคลื่อนผิดตำแหน่ง กระดูกสันหลังคดรุนแรง หรือกระดูกหักจากอุบัติเหตุ
  • ภาวะที่อาจเป็นอันตรายหากปล่อยไว้ เช่น เนื้องอกที่กระดูกสันหลัง การติดเชื้อที่รุนแรง หรือโพรงกระดูกสันหลังตีบ แคบที่อาจทำให้เกิดอัมพาต

 

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลัง และสิ่งที่ต้องแจ้งแพทย์ก่อนผ่าตัด

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น และมีการฟื้นตัวที่เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด ก่อนเข้ารับการผ่าตัดจึงควรเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด ดังนี้

  • ตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เช่น ตรวจเลือด เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและการทำงานของอวัยวะสำคัญต่างๆ รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และเอกซเรย์ปอดเพื่อประเมินสุขภาพปอดก่อนดมยาสลบ ทั้งนี้การตรวจ MRI หรือ CT Scan อาจจำเป็นในบางกรณี
  • การแจ้งข้อมูลที่สำคัญแก่แพทย์ เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ดีขึ้น โดยต้องแจ้งประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว ยาที่กำลังรับประทาน รวมถึงการสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลต่อกระบวนการผ่าตัด และการฟื้นตัวหลังผ่าตัด
  • หยุดใช้ยาบางชนิด ตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เนื่องจากยาดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเสียเลือดขณะผ่าตัด
  • งดอาหาร และน้ำก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักระหว่างการดมยาสลบ
  • เตรียมร่างกายให้พร้อม เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยลดความเครียดได้
  • ของใช้จำเป็น เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์ช่วยเดิน หรือยืนหากจำเป็น เช่น ไม้เท้าหรือ Walker เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหวหลังผ่าตัด
  • สถานที่พักฟื้น ควรจัดเตรียมห้องพักให้สะอาดและสะดวกสบาย ไม่มีข้าวของวางกีดขวางที่จะทำให้สะดุดล้ม ติดตั้งอุปกรณ์ เช่น ราวจับในห้องน้ำ เพื่อความสะดวก และความปลอดภัย
  • วางแผนการเดินทางกลับบ้าน ทั้งพาหนะ และผู้ช่วยดูแลหลังผ่าตัด

 

ทั้งนี้ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และการสอบถามข้อสงสัยต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผ่าตัด จะช่วยให้การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด และการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น

 

ผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

การผ่าตัดกระดูกสันหลัง อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ต้องกังวลใจเมื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  • อาการปวด หรือไม่สบายหลังผ่าตัด เป็นเรื่องปกติในช่วงแรก ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการจัดท่าทาง และอริยาบถเพื่อลดความเจ็บปวด และการใช้ยาแก้ปวด
  • การหลุด หรือเคลื่อนของหมอนรองกระดูก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่พบได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
  • การติดเชื้อ อาจเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด หรือกระดูก (osteomyelitis) หรือแผลหายช้าแต่พบไม่มากนัก และสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะก่อน และหลังการผ่าตัด
  • การบาดเจ็บที่เส้นประสาท อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การกดทับระหว่างการผ่าตัด หรือการเคลื่อนของโลหะที่ใส่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชา หรืออ่อนแรง ปัจจุบันพบในอัตราที่น้อยลงเมื่อใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก
  • ลิ่มเลือด อาจเคลื่อนไปยังปอดหรือสมอง เรียกว่า “ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน” (thromboembolism)
  • การเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลัง เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มีการฟื้นตัวที่ไม่ดีซึ่งอาจเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมหลังผ่าตัด

 

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดอย่างเหมาะสม การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และการดูแลหลังการผ่าตัดอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน มีแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ (Orthopedic Surgery) และศัลยกรรมกระดูกสันหลัง (Spine Surgery) ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและวิธีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน และปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการรักษา หากท่านมีความสงสัยในอาการที่เป็น สามารถเข้ามาปรึกษา เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษา หรือรับผ่าตัดที่เหมาะสมต่อไป

 

นพ.ชวาลวุฒิ เติมตะนันทน์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางข้อสะโพก และข้อเข่าเทียม
สถาบันกระดูกและข้อ


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...