กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

พญาไท พหลโยธิน

1 นาที

25/09/2024

แชร์


Loading...
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ปัสสาวะเล็ด หรือ ภาวะอาการที่ปัสสาวะเล็ดราด กลั้นไม่อยู่ ควบคุมไม่ได้ พบได้บ่อยในกลุ่มโรคระบบทางเดินปัสสาวะโดยเฉพาะในผู้หญิง สร้างความรำคาญใจ ความเครียด กังวล บางรายต้องใช้แผ่นรองซับปัสสาวะ หรือสวมใส่ถุงเก็บปัสสาวะ สภาพดังกล่าวส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เสียสุขภาพ ต้องเฝ้าระวังดูแลรักษาตนเอง รวมทั้งเสียสุขภาพจิตที่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามความต้องการ

 

ปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ปัสสาวะเล็ดเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่คอยพยุงท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน เกิดจากการยืดหย่อน หรือมีการฉีกขาดของอวัยวะที่ช่วยยืดและพยุงท่อปัสสาวะส่วนต้น ส่งผลให้ท่อปัสสาวะส่วนนั้นหย่อนต่ำลงมา จนไม่สามารถจะต้านทานความดันในกระเพาะปัสสาวะเมื่อมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ขณะไอ จาม และออกกำลังกาย อาการดังกล่าวพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทยมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 20 ของผู้หญิง ตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ถึงวัยหมดประจำเดือน ปัสสาวะเล็ดราดอาจจะเป็นแค่เพียงหยดซึมเป็นช่วงๆ หรือตลอดเวลา หรือราดจนเปื้อนเสื้อผ้าภายใน

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด

  • การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร โดยเฉพาะจำนวนครั้งของการคลอดบุตร กล่าวคือคลอดบุตรหลายครั้งจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ไม่จำเป็นว่าจะคลอดวิธีธรรมชาติ หรือผ่าคลอด ล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น เพราะการตั้งครรภ์จะส่งผลให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานต้องรับน้ำหนักของเด็กตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
  • อายุ พบในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเกิดทั้งเมื่อไอ จามปัสสาวะเล็ด
  • ความอ้วน เนื่องจากเพิ่มน้ำหนัก แรงดันในช่องท้อง และแรงดันในกระเพาะปัสสาวะ
  • ผู้หญิงที่ตัดมดลูกและหมดประจำเดือน เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน มีผลทำให้เนื้อเยื่อที่พยุงระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะในอุ้งเชิงกรานฝ่อลง
  • รายที่มีเพศสัมพันธ์แบบพิศดาร

 

ลักษณะอาการปัสสาวะเล็ดแต่ละประเภทและวิธีรักษา

การรักษาปัสสาวะเล็ดนั้นมีอยู่หลายวิธี ซึ่งผู้ป่วยสามารถพิจารณาเลือกรักษาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี หากมีอาการไม่มากนัก การหัดฝึกขมิบอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอก็จะช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

  • ปวดปัสสาวะแบบรุนแรง แต่กลับไม่ยอมเข้าห้องน้ำ ส่งผลให้เมื่อถึงเวลาก็จะราดออกมาเลย สามารถรักษาด้วยการรับประทานยา พบมากในผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน
  • มีอาการปัสสาวะราดออกมาเลย เมื่อมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง คือ ไอ หรือจาม คนที่พบในกลุ่มนี้จะเป็นผู้หญิงที่มีอายุ น้ำหนักมาก เคยมีประวัติการคลอดยาก หรือเคยผ่าตัดบริเวณรอบท่อปัสสาวะมาก่อน หรือในกลุ่มคนที่เคยฉายรังสีในบริเวณนั้นมา กลุ่มนี้จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

 

ปัสสาวะเล็ดรักษาอย่างไรได้บ้าง

  • การขมิบช่องคลอด เพื่อให้กล้ามเนื้อช่องคลอด และท่อปัสสาวะแข็งแรงขึ้น แต่เห็นผลค่อนข้างช้าและต้องทำเป็นประจำ วิธีการคือสามารถขมิบช่องคลอดได้ในทุกอิริยาบถ ซึ่งการขมิบที่ถูกต้องต้องขมิบเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเท่านั้น คล้ายกับเวลากลั้นอุจจาระ หรือปัสสาวะ โดยไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องหรือต้นขาร่วมด้วย ขมิบแต่ละครั้งทำค้างไว้ 10-20 วินาที แล้วคลายออกในเวลาเท่ากัน แล้วจึงเริ่มขมิบใหม่ สามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ โดยระยะแรกอาจทำเพียงน้อยครั้งแล้ว จึงเพิ่มขึ้นทั้งระยะเวลาและความถี่เมื่อชำนาญมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากท่านไม่แน่ใจว่าจะขมิบได้ถูกต้องหรือไม่ สามารถปรึกษาแพทย์ได้
  • การรับประทานยา เช่น ยายาแอนติโคลิเนอร์จิกช่วยในการบีบตัวของกล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะ ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหูรูดที่ช่วยสนับสนุนกระเพาะปัสสาวะอยู่ โดยช่วยลดอาการปวดปัสสาวะ และความถี่ในการถ่ายปัสสาวะ อย่างไรก็ดี ยาชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้ปากแห้ง มองเห็นภาพเบลอ และมีอาการท้องผูก
  • ฉีดโบท็อกซ์ การใช้โบท็อกซ์จำนวนเล็กน้อยที่กระเพาะปัสสาวะ โดยโบท็อกซ์เข้าไปจะไปทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่หด หรือบีบตัวมากเกินไปซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ต้องรีบถ่ายปัสสาวะทันที แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยการฉีดโบท็อกซ์ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้เช่น ผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้จะพบปัญหาปัสสาวะลำบาก จนต้องใช้สายสวนปัสสาวะ นอกจากนี้ผลของการใช้โบท็อกซ์ที่มากจนเกินไป รวมถึงยังต้องเข้ารับการฉีดอยู่เสมอ เนื่องจากโบท๊อกซ์อยู่ได้เพียงประมาณแค่ 6 เดือนเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องฉีดใหม่ทุกๆ 6-12 เดือน
  • การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้ หรือทำได้แต่ไม่ดีพอ การใช้กระแสไฟฟ้าขนาดต่ำไปกระตุ้นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยตรง พบว่าสามารถทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวมีความแข็งแรงขึ้นได้เช่นเดียวกับการให้ผู้ป่วยบริหารอุ้งเชิงกรานด้วยตัวเอง นอกจากนี้ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้ายังมีผลโดยตรงให้กระเพาะปัสสาวะมีการคลายตัวได้ด้วย
  • การผ่าตัดแก้ไขปัสสาวะเล็ดด้วยสายคล้อง (Incontinence Sling) ในอดีตการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดมักเป็นการผ่าตัดใหญ่ผ่านแผลเปิดหน้าท้อง แต่ปัจจุบันรักษาด้วยการผ่าตัดที่เรียกว่า Sling procedure

 

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางแบบสอดอยู่หลังกระดูกหัวหน่าว หรือแบบสอดผ่านขาหนีบ พบว่าร้อยละ 80 – 90 จะมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงหายขาดหรือดีขึ้นหลังผ่าตัด ส่วนใหญ่ของสตรีที่ได้รับการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางจะฟื้นตัวกลับเป็นปกติภายใน 2 – 4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด บางรายอาจมีอาการเจ็บหรือเคืองๆ ที่บริเวณขาหนีบในระยะ 2 สัปดาห์แรก มีน้อยรายที่อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ในระยะ 7 – 10 วันหลังผ่าตัดได้


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...