อาการแบบไหน..ที่บอกว่าคุณอาจกำลังเป็นไส้เลื่อน
หลายครั้งที่คนเป็นไส้เลื่อนไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังมีภาวะไส้เลื่อนอยู่ เพราะไส้เลื่อนไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นชัดเจน มีเพียงบางรายเท่านั้นที่มีความรู้สึกเจ็บ หรือปวดบริเวณขาหนีบ แต่ก็เป็นๆ หายๆ หรืออาจจะปวดรุนแรงแบบทันทีทันใดก็ได้ แม้ว่าไส้เลื่อนจะเป็นภาวะความผิดปกติของร่างกายที่ดูจะไม่มีอันตราย แต่หากปล่อยไว้นานอาจทำให้ลำไส้อุดตัน และขาดเลือดอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ารู้อาการว่าเป็นแล้วควรรีบไปรักษาดีกว่า
เราเป็นไส้เลื่อนได้ยังไง?
ไส้เลื่อนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากความอ่อนแอของเยื่อบุช่องท้อง การผ่าตัด ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อหน้าท้อง หรืออุบัติเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอลง หรืออาจจะเกิดจากแรงดันในช่องท้องก็ได้ แรงดันในช่องท้องเกิดได้จากการใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง เช่นการยกของหนัก ท้องผูก ไอ จามแรงๆ หรือการตั้งครรภ์ เป็นต้น ภาวะไส้เลื่อนมักเกิดกับคนอ้วน ผู้สูงอายุ คนที่เป็นต่อมลูกหมากโต ซึ่งผู้ชายมีโอกาสที่จะเป็นมากกว่าผู้หญิง
อาการแบบนี้แหละ..เรากำลังเป็นไส้เลื่อน
แม้ว่าผู้ป่วยบางรายจะไม่แสดงอาการเมื่อมีภาวะไส้เลื่อน แต่หากเราลองสังเกตตัวเองให้ดีแล้ว รู้สึกว่าตัวเองกำลังมีอาการเหล่านี้ร่วมกันอยู่หรือเปล่า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายและหาสาเหตุของอาการเหล่านี้
- มีก้อนตามร่างกาย หรือรู้สึกมีก้อนนูนออกมาจากภายในร่างกายบริเวณช่องท้อง
- รู้สึกเจ็บท้อง เรามักจะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณช่องท้องเมื่อก้มตัว ไอ หรือยกของหนัก
- รู้สึกแน่นท้องและปวดแสบปวดร้อนบริเวณช่องท้อง
แม้ว่าอาการหลักๆ ของไส้เลื่อน จะมีก้อนยื่นออกมาจากร่างกาย แต่เราสามารถสังเกตบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนตามร่างกายได้ เช่นที่ขาหนีบ สะดือ ท้องเหนือสะดือ ข้างท้อง กระบังลม และอาจมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย หากเป็นไส้เลื่อนบริเวณกระบังลมอาจจะทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ด้วย ทั้งนี้ บางคนที่ไม่แสดงอาการอาจมีไส้เลื่อนแบบเฉียบพลันก็ได้ จะมีอาการอาเจียน ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร อาจจะต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียดต่อไป
ไม่อยากเป็นไส้เลื่อนอีกแล้วทำตามนี้
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อลดอาการท้องผูก
- ไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดการไอ
- ควบคุมน้ำหนัก
หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือยกของให้ถูกวิธี
ไส้เลื่อนจัดการได้..ไม่ยากเลย
หมอจะเริ่มวินิจฉัยโรคจากอาการ โดยดูก้อนที่นูนขึ้นมาว่าเป็นไส้เลื่อนหรือไม่ อาจจะเป็นเนื้องอกหรือก้อนไขมันอุดตันก็ได้ และเมื่อหมอได้วินิจฉัยว่าเราเป็นไส้เลื่อนแล้ว แพทย์จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อนำไส้เลื่อนให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับผู้ป่วยที่มีไส้เลื่อนติดค้าง หมอจะต้องดันไส้เลื่อนกลับเข้าไปอยู่ในตำแหน่งเดิมก่อนแล้วผ่าตัด หรือนัดเข้ามาผ่าตัดเพื่อปิดช่องทางไม่ให้เกิดไส้เลื่อนซ้ำอีก ปัจจุบันการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้เทคนิกการผ่าตัดผ่านกล้อง ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว การผ่าตัดแผลเล็กและลดภาวะแทรกซ้อนที่จะกระทบกับเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ และไม่มีแรงตึงหลังการผ่าตัดด้วย
ไส้เลื่อนต้องผ่าตัดอย่างเดียวเลยหรือ?
การเกิดไส้เลื่อนไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย ในกรณีที่อายุมากแล้วจริงๆ และสามารถดันกลับเข้าไปได้แต่หาก ไม่สามารถกลับเข้าไปเองได้สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยผ่าตัด แต่สำหรับในคนวัยหนุ่มสาวเวลาเกิดไส้เลื่อนศัลยแพทย์จะแนะนำการผ่าตัดแก้ไขโดยเร็ว เนื่องจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพการใช้ชีวิต การทำงาน ไม่ต้องทนปวด หรือคอยกังวลไส้เลื่อนที่ออกมา และเพื่อความปลอดภัยในอนาคต
หากไม่ผ่าตัดจะอันตรายแค่ไหน?
การผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อนเป็นการผ่าตัดที่มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่ถือเป็นการผ่าตัดที่ยุ่งยากมาก และค่อนข้างปลอดภัย เพราะเป็นการผ่าเพื่อเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้อง หลังจากดันลำไส้ที่เลื่อนกลับเข้าไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันถ้าไม่ผ่าตัด ผลคือลำไส้จะมีการเลื่อนเข้า เลื่อนออก ผ่านรูที่ผนังหน้าท้องที่อ่อนแอ นานวันเข้าส่งผลให้เลื่อนออกมาแล้วไม่สามารถเลื่อนกลับเข้าไปได้ ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงเนื่องจากลำไส้ขาดเลือด เกิดการอุดตันได้ และติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหรือปวดรุนแรง รู้สึกคลื่นไส้ เนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของลำไส้ถูกจำกัด ภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้เลือนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
จะเป็นอย่างไรถ้าต้องผ่าตัดโรคลำไส้เลื่อนในภาวะฉุกเฉิน
การรักษาผ่าตัดโรคลำไส้เลื่อนในภาวะฉุกเฉินค่อนข้างยากลำบาก เพราะผู้ป่วยไม่ได้เตรียมสภาพร่างกายล่วงหน้า ไม่มีการเคลียร์อาหารในลำไส้ หรืออดอาหารมาล่วงหน้า ดังนั้น การผ่าตัดจึงกลายเป็นการผ่าตัดใหญ่ ในบางรายถ้าลำไส้ที่ออกมาแล้วกลับเข้าไปไม่ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดเลือด แพทย์อาจพิจารณาตัดลำไส้ส่วนนั้นทิ้งไป ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่
เพื่อความปลอดภัยในอนาคตจึงแนะนำให้ทำการผ่าตัดเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งการผ่าตัดมีอยู่หลายแบบขึ้นกับชนิดของไส้เลื่อน และความชำนาญของศัลยแพทย์
ผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องได้ สบายใจขึ้น
ถ้าพูดถึงการผ่าตัดแล้วหลายคนอาจจะกลัว แต่ด้วยนวัตกรรมในปัจจุบันที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ป่วยที่ไม่อยากมีแผลเป็นขนาดใหญ่หลังการผ่าตัด การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องทำให้ผู้ป่วยสบายใจมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ชายไม่ต้องอายที่เข้ามาหาหมออีกต่อไป การผ่าตัดผ่านกล้องจะทำให้มีแผลเป็นหลังการผ่าตัดเล็กนิดเดียวเท่านั้น ความกังวลเรื่องความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดก็เล็กลง เพราะแผลเล็ก พักฟื้นตัวเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนได้ กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น การผ่าตัดไส้เลื่อนมี 2 รูปแบบ คือ
- การผ่าตัดที่เรียกว่า Herniorrhaphy คือ การผ่าตัดบริเวณไส้เลื่อนเพื่อนําไส้กลับเข้าในช่องท้องแล้วก็เย็บซ่อมรูหรือจุดอ่อน (open repair)
- การผ่าตัดที่เรียกว่า Hernioplasty วิธีนี้จะใช้แผ่นสารสังเคราะห์เย็บปิดรู หรือจุดอ่อน เสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้องนั้น ซึ่งสามารถผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ โดยการตัดหรือเลาะถุงไส้เลื่อนออกแล้วเย็บปิด ถ้าไส้เลื่อนไม่ใหญ่มาก และกล้ามเนื้อแข็งแรง แต่รายที่ไส้เลื่อนขนาดใหญ่มาก กล้ามเนื้อหย่อนไม่แข็งแรง หรือเคยทําการผ่าตัดมาแล้วหลายครั้ง หรือเป็นไส้เลื่อนทั้งสองข้าง จะผ่าตัดโดยใช้แผ่นใยสังเคราะห์แผ่นใหญ่ช่วยเย็บปิด การผ่าตัดเป็นชนิดแบบเปิดผนังช่องท้อง