ศ. พญ. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์

ศ. พญ. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์

ศ. พญ. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์


ความชำนาญ
05.กุมารเวชกรรม
ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง
อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
สาขา

ข้อมูลทั่วไป

ปัจจุบันนี้ หมอจะดูแลเฉพาะทาง ของเด็กที่มาด้วยโรคภูมิแพ้ แต่บางทีพอเรารักษาภูมิแพ้ดีขึ้นแล้ว พ่อแม่เด็กก็ยังอยากให้หมอติดตามการรักษาโรคอื่นๆ ต่อไปอีก ก็ต้องดูแลกันไป แต่ถ้ามาด้วยโรคอื่นๆ ตั้งแต่ครั้งแรกและไม่ได้เจาะจงว่าต้องการพบหมอโดยตรง ก็จะเป็นกุมารแพทย์ท่านอื่นๆ ดูแล

 

 

หลังจาก ศ. พญ. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว คุณหมอได้รับคัดเลือกให้เป็นแพทย์ประจำบ้าน สาขากุมารเวช และบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้วยคุณหมอมีความสนใจด้านโรคภูมิแพ้ในเด็ก จึงได้ขอทุนไปศึกษาเพิ่มเติมที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ศึกษาอยู่นั้น คุณหมอยังได้รับรางวัล Fellowship Award จากงานวิจัย อีกด้วย และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำหน่วยโรคภูมิแพ้ฯ และทำงานด้านบริหารภาควิชาจนได้เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ก่อนเกษียณอายุราชการ ปัจจุบัน คุณหมอออกตรวจรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 และยังทำหน้าที่อาจารย์แพทย์พิเศษอยู่ด้วย คุณหมอเล่าถึงการศึกษาไว้ว่า. . .

 

 

“ด้วยการสนับสนุนจากครอบครัวที่เห็นว่าอาชีพแพทย์ นอกจากจะมีความมั่นคงแล้ว ยังทำประโยชน์ให้กับคนส่วนมาก แถมยังดูแลคนในครอบครัวได้ด้วย ในตอนที่หมอเรียนอยู่ที่เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์นั้น ยังไม่มีแผนกวิทยาศาสตร์ หมอจึงมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในสายวิทย์ แล้วก็สอบเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ ส่วนที่หมอตัดสินใจเลือกศึกษาต่อด้านกุมารเวช ส่วนหนึ่งก็เพราะชอบเด็กๆ เห็นว่าเด็กจะมีความตรงไปตรงมา ป่วยคือป่วย หายคือหาย เขาจะแสดงออกมาค่อนข้างชัดเจน การได้เห็นเด็กๆ หายดี ก็ทำให้เราภูมิใจ มีความสุขใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของพวกเขารวมถึงครอบครัวของเด็กๆ ด้วย แล้วตอนนั้นทางภาควิชาก็เห็นว่าหมอมีศักยภาพที่จะเป็นอาจารย์แพทย์ได้ หมอเลยมุ่งมาทางนี้ จนเทรนนิ่งครบ 3 ปี หมอก็บรรจุเป็นอาจารย์ และต่อยอดการศึกษาอีกชั้นหนึ่ง คือด้านโรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่จุฬาฯ”

 

 

โรคภูมิแพ้ และความเชี่ยวชาญในการรักษา

สมัยแรกๆ ที่คุณหมอจรุงจิตร์ เป็นอาจารย์แพทย์อยู่นั้น คุณหมอจะดูแลหมดทุกโรคที่เกี่ยวกับเด็ก ต่อมาก็ดูแลในโรคที่เฉพาะทางมากขึ้น คือเน้นไปที่โรคภูมิแพ้และระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งคุณหมอได้รับทุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านนี้ ที่ Children hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่และมีชื่อเสียงของ University of Pennsylvania เมือง Philadelphia ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี. . .

 

 

“การได้ไปศึกษาดูงาน ทำให้หมอเห็นถึงวิทยาการที่ก้าวไกล เราได้เรียนรู้ ศึกษาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ทั้งหมด ทั้งการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ที่นั่นจะมี Lab Investigation ซึ่งตอนนั้นในเมืองไทยก็ยังไม่มีหรือมีน้อย ยาก็ยังต้องนำเข้ามาจากทางนั้น แม้โรคบางอย่างของที่นั่นจะแตกต่างจากโรคในเมืองไทยอยู่บ้าง แต่เราก็สามารถนำมาประยุกต์และต่อยอดในการดูแลเด็กไทยได้”

 

 

ตรวจรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็ก ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ขั้นตอนการรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็ก อย่างแรกคือต้องตรวจวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่า เป็นภูมิแพ้จริงหรือไม่ แล้วเด็กแพ้อะไรบ้าง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการทดสอบทางผิวหนัง โดยใช้น้ำยา เขี่ย และแปลผล อ่านผล ซึ่งเป็นทักษะที่แพทย์โรคภูมิแพ้ทุกคนจะทำได้อยู่แล้ว แต่หากเด็กมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำการทดสอบที่ผิวหนังได้ ก็สามารถเจาะเลือดตรวจได้เหมือนกัน

 

 

ปกติแล้วการทำ Skin Test จะทำอยู่ใน 2 กรณี คือ

  1. ทำในคนไข้ที่แพ้อากาศ เป็นภูมิแพ้จมูก มีอาการหอบหืด และภูมิแพ้ผิวหนัง
  2. กลุ่มที่แพ้อาหาร คือแพ้พวกนมวัว แพ้นมถั่วเหลือง แพ้แป้งสาลี แพ้ไข่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กเล็กๆ

อาการแพ้เหล่านี้สามารถใช้วิธีตรวจแบบ Skin Test ก่อน ถ้าเด็กมีอาการแพ้รุนแรงก็จะใช้วิธีเจาะเลือดตรวจติดตามผลในทุกๆ ปี ต่อไป. . .

 

 

“ธรรมชาติของโรคภูมิแพ้ รักษาให้หายได้ แต่อาจจะไม่หายขาด เช่น การแพ้อากาศ เด็กและผู้ใหญ่เป็นกันได้ 50% แต่เคสที่จำเป็นต้องรักษาและดูแลต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 35% ของเด็กที่เป็น และนอกจากการรักษาโดยแพทย์แล้ว การปฏิบัติตัว การดูแลสิ่งแวดล้อมในบ้านก็มีส่วนสำคัญมาก เมื่อรู้ว่าแพ้อะไร ก็ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ถ้าแพ้ขนสัตว์ ก็ต้องไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัขหรือแมว หรือแม้แต่การที่มีคนสูบบุหรี่ในบ้าน ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการได้ จึงต้องหลีกเลี่ยง”

 

 

ในด้านการรักษานั้น คุณหมอจะพิจารณารักษาด้วยยาก่อน เช่น กินยา ใช้ยาพ่นจมูก ล้างจมูก หากรักษาไประยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็มีทางเลือกอื่นในการรักษา คือ การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งต้องฉีดทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 3-5 ปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสะดวกของคนไข้ จึงต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ. . .

 

 

“คนไข้เด็กที่นี่ ส่วนใหญ่พ่อแม่จะค่อนข้างมีความรู้และพร้อมให้ความร่วมมือในการรักษา และเด็กส่วนใหญ่ก็จะมีพี่เลี้ยงมาด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสอนพี่เลี้ยงหรือคนที่ดูแลใกล้ชิดเด็กด้วย หากเป็นเด็กโต เป็นวัยรุ่น หมอจะสอนให้เด็กดูแลตัวเองให้เป็น อย่างการล้างจมูกต้องทำเองได้ ซึ่งกว่า 95% ก็จะเป็นเด็กที่มีวินัย รับผิดชอบดี แล้วพอเขาหาย เขาก็รู้สึกมีความสุข เพราะฉะนั้นเขาจะให้ความร่วมมือดี”

 

 

เข้มงวด แต่จริงใจ เพราะต้องการให้หายดี

คุณหมอจรุงจิตร์ จะมีสไตล์การพูดคุยแบบตรงไปตรงมา การรักษาจะค่อนข้างเข้มงวด โดยคำนึงถึงผลการรักษา อาการ และความปลอดภัยของคนไข้เป็นหลักสำคัญ เช่น การทาสเตียรอยด์ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่มีความกังวล คุณหมอก็จะอธิบายถึงข้อดีข้อเสีย และแก้ไขความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเสียก่อน หรืออย่างการล้างจมูกที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน แม้อาการจะหายดีแล้วก็ตาม คุณหมอก็จะใช้หลักจิตวิทยาค่อยๆ อธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าทำไม แม้อาการจะหายไปแล้ว แต่ยังต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง. . .

 

 

“อาจจะเพราะหมอเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ เวลาพูดก็จะเสียงดังหน่อย ดูจริงจัง เข้มงวด ผู้ปกครองเด็กก็จะมองว่าหมอดุ แต่พอรักษาจนลูกหายดี หมอก็มักจะได้ยินคำว่า ‘ดุ แต่จริงใจ’ ก็เพราะเราต้องการให้หาย ให้จบ ไม่ต้องการให้เป็นเรื้อรัง เด็กจะมีความทุกข์ เพราะมันมีผลกระทบกับคุณภาพชีวิต ทั้งอารมณ์ จิตใจ พฤติกรรม เพราะฉะนั้นหมอจึงต้องคุยอย่างจริงจัง และค่อนข้างจะฟันธง เช่น มาด้วยผื่น พ่อแม่ที่กลัวว่าลูกจะแพ้อาหารเลยให้งดไปหมด แบบนี้ลูกก็จะขาดสารอาหาร ดังนั้นหมอก็จะตรวจ วินิจฉัย และให้ไปดูพฤติกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างการอาบน้ำ การใช้ครีม ใช้สบู่ โลชั่น เมื่อผื่นดีขึ้นจะได้กินอาหารได้ตามปกติ หลายคนที่มาพบเราก็แฮปปี้ หรือปัญหาเส้นผมบังภูเขา อย่างลูกไม่กินนม น้ำหนักไม่ขึ้น ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงไหนเลย อยู่ที่ไม่ได้เปลี่ยนไซส์จุกขวดนมให้เหมาะกับอายุของลูก ดังนั้น เวลาวินิจฉัยอะไร หมอจะต้องซักประวัติคนไข้อย่างละเอียด บางคนอาจรำคาญที่ถามเยอะ แต่พอเข้าใจประเด็น เขาจะเห็นด้วย หมอก็จะค่อยๆ สร้างความเข้าใจให้กับเขา”

 

 

กุมารแพทย์ใน Allergy Center โรงพยาบาลพญาไท 2

Allergy Center ที่นี่ แม้จะไม่ใช่โรงเรียนแพทย์ที่มีการเรียนการสอน แค่คุณหมอจรุงจิตร์ ในฐานะหัวหน้าแผนก ก็ดูแลทั้งการบริการศูนย์ และให้การตรวจรักษาร่วมกับทีมกุมารแพทย์ ซึ่งคุณหมอเล่าว่า. . .

 

 

“ที่นี่ เราจะจัด Academic meeting (การประชุมวิชาการ) อยู่เสมอ เนื่องจากหมอมาจากสายโรงเรียนแพทย์ ก็จะมีประสบการณ์ในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน เราก็จะจัดเรื่องของ Educational Program ให้กับกุมารแพทย์ที่นี่ด้วย เหมือนการเป็นทบทวนและอัปเดตข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ทุก 2 เดือน เพื่อเพิ่มพูนทักษะ และยังมีการจัด Academic meeting ที่จะได้พูดคุยเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ เช่น การพูดเรื่องการรักษาเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัว หมอก็จะพูดเรื่องนมสูตรพิเศษในการรักษา แพทย์ที่ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อก็อาจจะพูดอัปเดตวัคซีนว่าตอนนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง หรือแพทย์ทารกแรกเกิดก็อาจจะพูดเรื่องปัญหาของเด็กทารกที่พบบ่อย แล้วก็มีกุมารแพทย์ในอีกหลากหลายความเชี่ยวชาญ เช่น แพทย์พัฒนาการเด็ก แพทย์จิตเวชเด็ก แพทย์ต่อมไร้ท่อเด็ก แพทย์โรคเลือดเด็ก เราก็จะคุยกัน ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้กันอยู่เสมอ”

 

 

หนึ่งในผู้ก่อตั้งการอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด

เมื่อมีการจัดตั้งสมาคมโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย และต้องการให้มีกุมารแพทย์เฉพาะทางเพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นปัญหาของโรคภูมิแพ้ที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการเปิดการฝึกอบรมกุมารแพทย์ต่อยอดด้านนี้ ซึ่งคุณหมอจรุงจิตร์ ก็เป็นหนึ่งในแพทย์ผู้ก่อตั้งการอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของประเทศไทย โดยเริ่มเปิดสอนตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา. . .

 

 

“ตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้ เรามีหมอเด็กด้านภูมิแพ้ราว 4-5 ร้อยคน ซึ่งนับว่าไม่เยอะในภาพรวมของทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันจำนวนเด็กเกิดใหม่ก็ลดลง ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโนบายหลักของประเทศจึงมุ่งเน้นผลิตแพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป (Family medicine) มากกว่า และการเทรนนิ่งก็จะเน้นไปที่แพทย์อายุรกรรมและหลักสูตรผู้สูงอายุ (Genetic medicine) ซึ่งก็จะคล้ายๆ กันทั่วโลก”

 

 

ปัจจุบัน คุณหมอจรุงจิตร์ ยังเป็นอาจารย์แพทย์พิเศษ ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสอนนิสิตแพทย์ปี 4 แพทย์ประจำบ้านกุมารเวชศาสตร์ และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขากุมารแพทย์ภูมิแพ้ อีกด้วย


  • 2514 – 2520 แพทยศาสตร์บัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2521 – 2524 วุฒิบัตรกุมารแพทย์, แพทยสภา
  • 2527 – 2528 Certificate in Pediatric Allergy and Immunology, University of Pennsylvania USA
  • 2540 – 2540 อนุมัติบัตรกุมารแพทย์ภูมิแพ้, วิทยาลัยกุมารแพทย์ แห่งประเทศไทย
  • 2542 – 2542 วุฒิบัตร กุมารแพทย์ภูมิแพ้, แพทยสภา

ตารางออกตรวจ

คลินิก เด็ก

(09:30 - 13:30)

คลินิก เด็ก

(09:30 - 13:30)

คลินิก เด็ก

(09:30 - 13:30)

คลินิก เด็ก

(09:30 - 13:30)

คลินิก เด็ก

(09:30 - 13:30)

คลินิก เด็ก

(09:30 - 13:30)

คลินิก เด็ก

(09:30 - 13:30)

คลินิก เด็ก

(09:30 - 13:30)
Loading...
Loading...